วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

แผนธุรกิจสำคัญอย่างไร ตอนที่ 2

ขั้นตอนการทำแผนธุรกิจในทางปฏิบัติ

4. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (environmental analysis)

สภาพแวดล้อมที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่เป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมในที่นี้หมายถึง ปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจสังคมและการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนี้อยู่นั้นเป็นอย่างไร เมื่อศึกษาเสร็จแล้วควรจะทำให้เห็นภาพพจน์ด้วยว่าสภาพแวดล้อมเหล่านั้นมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร ในทิศทางบวกหรือลบ ความรุนแรงจะมีมากน้อยและจะมีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจเพียงใด ดังนั้นความน่าเชื่อถือของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมจึงขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลที่จัดหามาได้ ซึ่งถ้าข้อมูลมีน้อยเกินไป การตัดสินใจอาจมีความผิดพลาดได้ อันนี้เปรียบเหมือนการทำการรบ ซึ่งควรจะมีข้อมูลด้านชัยภูมิที่ตั้ง รวมทั้งคู่แข่งขันให้มากพอเพื่อจะนำไปใช้วางแผน หรือกำหนดกลยุทธ์ในการรบต่อไป เข้าตำราของซุนวูที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” นั่นเอง

ในกรณีตัวอย่างร้านอาหาร Fast Food “Rice-San” ผู้เขียนจะลองสรุปการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งขอออกตัวก่อนว่า อาจจะไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเวลามีจำกัด แต่ก็คงจะให้ภาพชัดเจนแก่ผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจได้พอสมควร

การวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งการตื่นตัวและการมีส่วนร่วนทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในแถบเอเซียด้วยกัน ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมจากสังคมเกษตรกรรมที่มีวิถีการดำเนินชีวิตเรียบง่าย ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก

สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม (industrialization) ซึ่งทำให้โครงสร้างการผลิตของระบบเสรษฐกิจโดยส่วนรวมเปลี่ยนจากเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นหลัก มีผลทำให้โครงสร้างความต้องการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปและก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง (urbanization) ซึ่งส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประชากรกลุ่มต่างๆอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออำนาจซื้อของประชากรกลุ่มที่เรียกว่า “ชนชั้นกลาง” ในสังคมไทย ทั้งนี้เพราะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมย่อมมีผลทำให้ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในวิชาชีพเฉพาะสาขาต่างๆ นักวิชาการ นักบริหาร เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้จากสถิติทางการของไทย Hewison(1996) พบว่าในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ที่ประกอบวิชาชีพจัดอยู่ในกลุ่ม ”ชนชั้นกลาง” ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพเฉพาะสาขา นักวิชาการ นักบริหาร พนักงานสำนักงาน พนักงานขาย รวมทั้งพนักงานในภาคบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านคน ในปี 1960 เป็น 5 ล้านคน ในปี 1990 ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ของสัดส่วนก็พบว่าเพิ่มขึ้นจากระดับ 10% เป็น 21% ของจำนวนผู้มีงานทำทั่วประเทศด้วย

ถ้าพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ (profession) ก็พบว่าจากที่มีจำนวนไม่ถึง 50,000 คน ในปี 1937 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 350,000 คน และ 2,350,000 คน ในปี 1940 และ 1990 ตามลำดับ จากตัวเลขชุดเดียวกันนี้เรายังพบอีกด้วยว่า แนวโน้มที่สตรีจะออกไปทำงานนอกบ้านนั้นเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยสัดส่วนสตรีที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะ ได้เพิ่มจาก 23% ในปี 1960 เป็น 46%ในปี 1990 ซึ่งการที่สตีรได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นนี้ก็มีส่วนทำให้วิถีการดำเนินชีวิต(life style) ของครอบครัวในเขตเมืองเปลี่ยนแปลงไปด้วย เนื่องจากการที่สตรีมีเวลาในการดูแลงานในบ้านลดลง ย่อมทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการประเภทใหม่ๆที่สามารถ “ทดแทน” การทำงานบ้านเพิ่มมากขึ้น เช่น บริการซักรีดเสื้อผ้า บริการทำความสะอาด บริการอาหารปรุงสำเร็จรูป รวมทั้งการรับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น

เมื่อพิจารณาถึงการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ชนชั้นกลางแตกต่างจากแรงงานโดยทั่วไป เพราะเป็นแรงงานที่ใช้ ”สมอง” มากกว่า “แรงกาย” ก็จะพบว่าการศึกษาของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน จากการที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตบัณฑิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากสถิติจำนวนนักศึกษาที่จดทะเบียนเรียนในระดับอุดมศึกษา (enrollment basis) จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นจากระดับเพียง 15,000 คน ในปี 1961 เป็น 100,000 คน ในปี 1972(จากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนรวมกันทั้งสิ้น 30-40 แห่งทั่วประเทศ) ทำให้คาดว่าในปัจจุบันนี้ จำนวนผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากที่มีเพียง 185,000 คน ในปี 1970 กว่า 10 เท่าตัว

และนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวแทบทุกด้านด้วยอัตราสูงเป็นประวัติการณ์ จนธนาคารโลกจัดให้ไทยเป็นหนึ่งในเอเซียตะวันออกที่มีการขยายตัวและการธำรงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกร ช่างเทคนิค นักการเงินและผู้บริหารระดับกลางได้กลายเป็นทรัพยากรหายากที่เป็นที่ต้องการในตลาดซึ่งจากผลดังกล่าวนี้ ทำให้อำนาจซื้อของชนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจะส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนแล้วยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและประชากรด้วย กล่าวคือ เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ของประชากรโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ทำให้อัตราการขยายตัวของประชากรชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ประชากรที่มีอายุช่วง 15-34 ปี มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีผลทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลงตามลำดับ ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการทางด้านประชากรศาสตร์คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนสมาชิกโดยเฉลี่ยของครอบครัวคนไทยจะลดลงไปจากระดับ 5 คน ในปี 1987 เหลือเพียง 3.7 คน เท่านั้น ในปี 2005

การที่สังคมไทยมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่สังคม”ครอบครัวเดี่ยว”(nuclear family) เพิ่มขึ้นเช่นนี้ย่อมมีนัยสำคัญอย่างมากต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้เพราะการที่ขนาดของครัวเรือนเล็กลง หมายความว่าจำนวนสมาชิกที่เป็นภาระในครอบครัวย่อมมีจำนวนลดลง ทำให้ผู้หาเลี้ยงครอบครัวมีงบประมาณสำหรับสมาชิกที่เป็นภาระแต่ละคนเพิ่มขึ้น ดังนั้นพฤติกรรมการใช้จ่ายย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มุ่งในเชิง”ปริมาณ”เป็นหลักหันมาเน้นในเชิง”คุณภาพ”เพิ่มขึ้น

หากพิจารณาเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณว่าปัจจุบันมีผู้มีรายได้ที่จัดอยู่ในกลุ่มของคนทำงานสำนักงาน (white collar) เป็นสัดส่วนถึงประมาณ 1 ใน 3 และถ้าพิจารณาถึงระดับรายได้ครัวเรือนแล้ว จะมีครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในระดับชนชั้นกลางขึ้นไปถึง 54% ด้วยอำนาจซื้ออันมหาศาลดังกล่าวนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอนวีเนี่ยนสโตร์รวมทั้งอาหารแฟรนไชส์ของอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดจากประเทศตะวันตกผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วกรุงเทพฯ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวจะยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะกระจายตัวออกไปยังตัวเมืองใหญ่ๆ ในเขตภูมิภาคอย่างช้าๆ แล้วด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้หันมาดำเนินนโยบายในด้านการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้มีการย้ายอุตสาหกรรมจากเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลไปสู่เขตภูมิภาค (regional industrialization) และก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในลักษณะที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงที่ผ่านมา

เห็นตัวอย่างข้างต้นนี้แล้วไม่ต้องตกใจครับว่าเวลาปฏิบัติจริงๆ จะต้องเขียนออกมาอย่างนี้หรือเปล่า ผู้เขียนเองคาดหวังเพียงว่า ผู้ประกอบการสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนตรงประเด็นว่า สภาพแวดล้อมสำหรับธุรกิจท่านเป็นอย่างไร ท่านทราบได้อย่างไร แม้จะเขียนได้ไม่ดีก็ไม่เป็นไรครับ แต่ต้องให้แน่ใจว่าท่านทราบจริงๆไม่หลอกตัวเอง ในครั้งต่อไปเราจะลองวิเคราะห์ขั้นตอนและวิธีที่จะทำให้ท่านทราบข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและทราบถึงผลที่จะมีต่อธุรกิจของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น